วันนี้ (3 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า เฟซบุ๊กกลุ่มที่มีชื่อว่า “แชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว” ซึ่งมีสมาชิกเกือบ 1 แสนราย และเคยเป็นข่าวโด่งดังในช่วงที่กรณีการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ได้มีสมาชิกหลายรายบอกเล่าประสบการณ์ถูกหักเงินออกจากบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยในแอปพลิเคชัน K PLUS ระบุรายการโอนเงิน ช่องทาง “ศูนย์ปฏิบัติการ 1287” ตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นบาท
เมื่อสมาชิกถามว่าเคยเป็นหนี้กับธนาคารดังกล่าวหรือไม่ ตอบว่าเคย ภายหลังพบว่าเป็นการหักหนี้สินเชื่อของธนาคาร กรณีไม่ได้ชำระตามเงื่อนไขมาเป็นระยะเวลานาน ธนาคารจึงดำเนินการหักเงินในบัญชีเพื่อเข้าชำระสินเชื่อ ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเอกสารข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตร/สินเชื่อของธนาคาร หากต้องการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งรายละเอียดกับธนาคาร เพื่อทำการรับเรื่องตรวจสอบและติดต่อกลับไป
ประเด็นดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่าเมื่้อเป็นหนี้แล้วไม่จ่าย เป็นหน้าที่ของธนาคารที่จะต้องหักเงิน ควรไปเคลียร์กับธนาคารมากกว่า ถูกหักเงินแล้วมาใส่ร้ายธนาคารไม่ถูกต้อง ส่วนฝ่ายที่ถูกหักเงินก็ออกมาขอความเห็นใจ อ้างว่าเป็นการซ้ำเติมในสภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีเงินติดบัญชีไว้เพื่อความอยู่รอด และควรที่จะแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าก่อนหักบัญชี
อนึ่ง ในตอนหนึ่งของข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิต บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า
14. ผู้ถือบัตรตกลงจะนำเงิน และ/หรือโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตรที่มีอยู่กับธนาคาร และ/หรือตกลงยินยอมให้ธนาคารโอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่มีอยู่กับธนาคาร เพื่อชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีการใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดในการชำระค่าสินค้า/บริการ เบิกถอนเงินสด และ/หรือ เพื่อการชำระค่าธรรมเนียม/ค่าใช้จ่าย/ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิต ตามข้อกำหนดนี้ ให้หักทอนบัญชีบัตรเครดิตในวันกำหนดชำระ/หักบัญชีตามที่ระบุไว้ในใบแจ้งรายการใช้บัตรเครดิต
(2) เมื่อปรากฎในใบแจ้งรายการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตรมียอดเงินที่ผู้ถือบัตรค้างชำระกับธนาคาร ผู้ถือบัตรตกลงจะนำเงินเข้าฝาก/โอนเงินเข้าในบัญชีบัตรเครดิต เพื่อให้หักทอนบัญชีบัตรเครดิตในวันกำหนดชำระ/หักบัญชีซึ่งระบุไว้ในใบแจ้งรายการใช้บัตรเครดิต
(3) ในการหักทอนบัญชีบัตรเครดิต ผู้ถือบัตรตกลงให้ธนาคารหักทอนบัญชีบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าธรรมเนียมและค่าปรับให้แก่ธนาคารก่อน
(4) ในกรณีที่ธนาคารได้ดำเนินการหักทอนบัญชีบัตรเครดิตในวันครบกำหนดชำระ/หักบัญชี หรือผู้ถือบัตรนำเงินเข้าฝาก/โอนเงินเข้าในบัญชีบัตรเครดิตแล้ว ปรากฎว่าในบัญชีบัตรเครดิตของผู้ถือบัตรยังมียอดเงินค้างชำระ ผู้ถือบัตรตกลงยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร โดยคำนวณจากยอดหนี้ที่ค้างชำระที่ปรากฎในใบแจ้งรายการใช้บัตรเครดิต ของผู้ถือบัตร นับจากวันที่ธนาคารจ่ายเงินให้ร้านค้า และ/หรือ วันที่ถอนเงินสด ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารจะบันทึกรายการ (Posting Date) ตามอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ธนาคารประกาศกำหนด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามประกาศของธนาคาร โดยให้คิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน จนกว่าบัญชีบัตรเครดิตของผู้ถือบัตรจะไม่มียอดค้างชำระ
15. ผู้ถือบัตรยินยอมให้ธนาคารมีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทใดๆ ที่ผู้ถือบัตรมีอยู่กับธนาคาร หรือเงินซึ่งอยู่ในความครอบครอง ดูแล และ/หรือในอำนาจสั่งการของธนาคาร ไม่ว่าธนาคารจะได้รับฝากเงินได้รับการครอบครองดูแล และ/หรือได้อำนาจ สั่งการนี้มาโดยทางใด เพื่อเข้าชำระหนี้ และ/หรือ ความรับผิดชอบของผู้ถือบัตรได้ทันที โดยไม่จำต้องบอกกล่าว ทั้งนี้ธนาคารจะนำส่งหลักฐานการหักบัญชีให้ผู้ถือบัตรทราบ
นอกจากนี้ ใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต ยังระบุว่า กรณีลูกค้าไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตกสิกรไทย
– ธนาคารมีสิทธิเปลี่ยนแปลงวงเงิน หรือระงับ หรือเพิกถอนการใช้บัตรเครดิต
– ท่านจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการติดตามทวงถามหนี้
– กรณีที่ท่านผิดนัด/ผิดสัญญา ทางธนาคารมีอำนาจในการหักบัญชีจากบัญชีเงินฝาก หรือบัญชีอื่นๆ ที่ลูกค้ามีอยู่ เพื่อนำมาชำระหนี้ของลูกค้าที่ค้างชำระอยู่ได้ ทั้งนี้ ธยาคารจะส่งหลักฐานการหักบัญชีให้ลูกค้าทราบ
– สิทธิในการหักกลบลบหนี้ : ธนาคารมีสิทธิในการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของท่านเพื่อชำระหนี้คงค้างที่ท่านมีอยู่กับธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารจะมีหลักฐานการหักบัญชีให้ลูกค้าทราบ (แจ้งรายละเอียดการหักบัญชีในใบแจ้งหนี้รอบบัญชีถัดไป)
แหล่งที่มา https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000109093